GANESH
CHATURTHI
GANESH CHATURTHI หรือ “เทศกาลคเณศจตุรถี” ปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-19 กันยายน 2564 โดยนับเป็นเทศกาลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของการบูชาพระพิฆเณศวร จะกระทำในวันแรม 4 ค่ำ เดือน 9 และวันแรม 4 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งถือว่าเป็นวันกำเนิดของพระพิฆเณศวร เชื่อกันว่าพระองค์จะเสด็จลงมาสู่โลกมนุษย์เพื่อประทานพรอันประเสริฐสูงสุดแก่ผู้ศรัทธาพระองค์ท่านเป็นเวลา 10 วัน เทศกาลนี้มีการจัดพิธีกรรมบูชาและการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ทั่วอินเดียและทั่วโลก
ทรงประทานพรอันประเสริฐ
ตามความเชื่อนั้นพลังศักดิ์สิทธิ์ขององค์พระพิฆเณศวรสามารถประทานพรสุดวิเศษแก่ผู้บูชาสักการะ ไม่ว่าจะเป็น ยศฐาบรรดาศักดิ์, อำนาจวาสนา, ธุรกิจการงาน, ความมั่งคั่งร่ำรวย, สติปัญญา, ศิลปวิทยาการทุกแขนง, สุขภาพร่างกายและจิตใจ, ขจัดปัญหาและความหายนะ รวมไปถึงการนำความสุขสถาพรนิรันดร์
การบูชาพระพิฆเณศวร
อุปกรณ์ที่ใช้ในการบูชาพระพิฆเณศวรในพิธีนี้ ได้แก่ ธูป 16 ดอก, ดอกดาวเรือง (ความเจริญรุ่งเรือง), น้ำสะอาด, นมสดรสจืด, ผลไม้ เช่น กล้วย (ทำสิ่งใดก็ประสบความสำเร็จโดยง่ายดาย) อ้อย (ความหวาน สดชื่น) มะพร้าว (ความเจริญรุ่งเรือง ความบริสุทธิ์), ขนมหวาน (ต้องไม่มีส่วนผสมของเนื้อสัตว์) เมื่อเตรียมของเสร็จแล้วให้ทำจิตสงบนิ่งและเริ่มสวดบูชา โดยคาถาที่นิยม คือ ‘โอม ศรี คะเนศา ยะนะมะฮา’ ให้ทำสมาธิด้วยการสวดมนต์ วนไปเรื่อยๆ หรือจะเป็น 108 จบ หลังจากนั้นทำ อารตี และขอพรตามประสงค์ โดยกล่าว ‘โอม ศานติ…ศานติ…ศานติ’ เพื่อขอความสันติให้บังเกิด
GANESHA
FIGURINE
ในโอกาสสำคัญนี้ Crystal Symphony ขอนำเสนอประติมากรรมพอร์ซเลนจาก LLADRÓ ประเทศสเปน รูปพระพิฆเณศวร 5 ปาง(จากทั้งหมด 10 ปาง) เพื่อการบูชาในช่วงเวลาดังกล่าว
ปางสัมปทายะคเณศร (ประทานพร)
ปางประทานพร มีอาวุธและงาที่หักอยู่ที่พระหัตถ์บนเพื่อขจัดปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย หัตถ์ล่างซ้ายถือขนม หัตถ์ล่างขวาอยู่ในท่าประทานพร ความหมายคือ อำนวยพรให้ประสบความสำเร็จ มีความสุข ปราศจากเภทภัย
พระนฤตยะคณะปติ (ปางนาฏศิลป์)
ปางนาฏศิลป์ เจ้าแห่งลีลาการร่ายรำและศิลปะการแสดง สร้างความบันเทิงและความสุขให้ชาวโลก ตั้งบูชาในวิทยาลัยนาฏศิลป์ โรงเรียนเต้นรำบัลเล่ต์, โรงเรียนโยคะ, โรงเรียนสอนการแสดง, โรงละคร, โรงถ่ายทำภาพยนตร์ และสถานบันเทิง
ปางมุราลีคณปติ (ทรงขลุ่ย)
ขลุ่ย เป็นเครื่องดนตรีประจำพระองค์ของพระกฤษณะซึ่งเป็นรูปอวตารของพระนารายณ์ เป็นมหาเทพแห่งความหลุดพ้น จึงเป็นปางที่รวมพลานุภาพแห่งสองเทพคือพระนารายณ์และพระพิฆเณศวร ชี้ทางมนุษย์ไปสู่ความสุขสมบูรณ์ที่แท้จริง ทั้งด้านความรัก ความสงบ พระองค์เป็นเทพเจ้าที่มอบความอุดมสมบูรณ์ในโชคลาภทุกชนิด มีกินมีใช้ไม่อดอยาก โปรดประทานพลังและทางสว่างแห่งความสำเร็จผ่านทางลมหายใจของพระองค์เพื่อให้มนุษย์เกิดสติปัญญา
ผู้ที่บูชาได้ดีและถูกต้อง จะได้รับอำนาจในขั้นตำแหน่ง และการปกครองลูกน้องในองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพไปด้วย
ปางวีณาคณปติ (ทรงวีณา/เล่นพิณ)
วีณาหรือพิณ เป็นเครื่องดนตรีประจำพระองค์ของพระสรัสวดี เป็นมหาเทวีหนึ่งในสามเทวีสูงสุด ชายาแห่งพระพรหมผู้สร้างโลก พระองค์คือเทวีแห่งปรีชาญาณอันชัดเจนแจ่มแจ้ง เทวีแห่งสรรพความรู้ วิทยาการอันก้าวหน้า ศิลปะวิทยาการทุกสาขาทุกแขนง เป็นมารดาแห่งพระเวทผู้รักษากฎสวรรค์ ผู้ประทานความบริสุทธิ์และขจัดมลทิน และทรงเป็นเทวีผู้รักษาพระไตรปิฎก
ปางนี้เป็นการรวมอานุภาพสองเทพพระพิฆเนศวรและพระสรัสวดี เพื่ออำนาจ บารมี ทรัพย์ และมีความสามารถดั่งบุรุษกับสตรีรวมกัน
ปางมฤทิงค์คณปติ (ทรงกลอง)
มฤทิงค์หรือกลองแขก เป็นเครื่องดนตรีของสวรรค์ที่มหาเทพบนสวรรค์บรรเลง ทำหน้าที่กำกับหน้าทับจับจังหวะคุมทั้งวง จึงถือเป็นบรมครู ชาวอินเดียเชื่อว่าพระพรหมได้ทรงสร้างขึ้นเพื่อประกอบการฟ้อนรำของพระศิวะเมื่อทรงชัยชนะเหมือนครตรีปุระ พระพิฆเนศผู้เทพโอรสเป็นผู้ตีคนแรกที่เรียกว่า “มฤทิงค์” หรือ “มันททละ” เพราะหุ่นของกลองทำด้วยดิน
เป็นปางที่นำมาซึ่งมีอำนาจ มีบารมี ความรัก เสน่หาเมตตา ประกอบกิจการงานใดจะประสบความสำเร็จ ปราศจากอุปสรรคเครื่องขัดขวาง นำพาซึ่งชื่อเสียงโด่งดังไปไกลถึงสวรรค์ชั้นฟ้าดังเสียงกลอง